“กำไลอีเอ็ม” ความยุติธรรมแบบให้โอกาส ลดแออัดในเรือนจำ

“นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต” อธิบดีกรมคุมประพฤติ ชี้แจงคุณภาพ "กำไลอีเอ็ม" หลังมีประเด็นร้อนในการอภิปรายงบฯ เรื่องเช่าซื้อราคาแพง และความปลอดภัยกับการติดตามผู้ต้องขัง พร้อมคุยเปิดใจผู้ต้องถูกคุมประพฤติในวันที่ได้รับโอกาสให้กลับใจนอกเรือนจำ

กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเกี่ยวกับ “กำไลอีเอ็ม” เครื่องมือช่วยคุมประพฤติผู้ต้องขัง เมื่อ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัดงบกระทรวงยุติธรรม 5 % โดยกล่าวถึงกรมคุมประพฤติที่ใช้งบประมาณโครงการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ที่ตั้งตามมติ ครม. ต่อเนื่อง 2563-2565 วงเงิน 877 ล้านบาท

“ในปี 2564 ราคา 169.5 ล้านบาท ขอซื้อ 30,000 เครื่อง ตกเครื่องละ 27,000 บาท แสดงว่า ปีนี้ EM แพงขึ้นเครื่องละ 9,000 บาทเศษ”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ พบข้อมูลว่า กำไล EM ผู้ต้องขังสามารถถอด-สวมเองได้ ทั้งยังเกิดผื่นคันบนผิวหนัง ซึ่งไม่ตรงตามมาตรฐาน

นอกจากนี้การเสนอราคาประมูลมีเพียง 2 บริษัท แต่มีเพียงบริษัทเดียวที่ผ่านคุณสมบัติ คือ บริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ที่เสนอมาในราคา 849.999 ล้านบาท ชนะการประมูลจากราคากลาง 853 ล้านบาท เมื่อไปสืบค้นต่อจากรุ่นที่บริษัทฟอร์ทเสนอราคาบนเว็บไซต์อยู่ที่ 4,600-7,700 บาท

“ผมไม่แน่ใจว่าสเป็กมันแตกต่างกันขนาดไหน ผลิตที่จีนหรือไทย แต่ราคาซื้อ 7,754 บาท ส่วนค่าเช่า 3 ปี เครื่องละ 27,750 บาท ค่าเช่าแพงกว่าซื้ออีกแล้ว”
นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ชี้แจงกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เป็นความเข้าใจผิดในเรื่องข้อมูลเอกสาร ที่นำข้อมูลปีงบประมาณ 2564 ไปเทียบกับข้อมูลของเก่า ซึ่งครั้งก่อนเช่าซื้อ 4,000 เครื่อง

ส่วนครั้งนี้เช่าซื้อ 30,000 เครื่อง โดยราคาต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากคุณภาพที่ดีขึ้น เครื่องรุ่นก่อนเริ่มต้นที่ 2G แต่รุ่นใหม่นี้เริ่มที่ 3G ขึ้นไป ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า คุณสมบัติที่มากกว่าคือ กันน้ำ กันฝุ่น และทนทานการตกกระแทก แบบเดิมใช้ราคาเป็นหลัก แต่ครั้งนี้เปรียบเทียบทั้งราคาและคุณภาพ พร้อมทดสอบข้อข้องใจทุกอย่างในอดีต

“กำไลอีเอ็มแบบเดิมใช้เรื่องราคาเป็นหลัก เอาราคาถูกเข้าว่า ประมูลคราวก่อนจึงได้ของมาแบบที่เป็นข่าว แต่ครั้งนี้กรม ใช้ทั้งราคาและคุณภาพเปรียบเทียบกัน ทุกอย่างที่เป็นข้อข้องใจในอดีต เราเอามาทดสอบหมด”
ส่วนกรณีบริษัทที่ยื่นราคาประมูลเข้ามานั้น ในครั้งนี้มี 2 บริษัทแต่ปรากฏว่า บริษัทหนึ่งไม่ได้ส่งสินค้าเข้ามาให้ทดสอบ เมื่อติดต่อกลับไปก็ได้ขอสละสิทธิ์ เนื่องจากสินค้ายังอยู่ต่างประเทศ

“พวกนี้เป็นเรื่องเทคโนโลยี ถ้าวันนี้เราซื้อเทคโนโลยีมาเลย แล้วเทคโนโลยีเปลี่ยน มันก็หมดค่า เลยไม่คิดจะใช้วิธีซื้อ การใช้วิธีเช่าน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด เราไม่ต้องรับผิดชอบการเปลี่ยนแปลง ของมันตกรุ่นได้อยู่แล้ว”
กำไลอีเอ็ม "ยุติธรรม" แบบให้โอกาส
อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่า จากกระแสกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่ ที่พยายามให้โอกาสกับคนที่หลงผิดด้วยเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน กรมคุมประพฤติจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่จะช่วยไม่ให้คนกลุ่มนั้น ต้องถูกผลักกลับเข้าไปในเรือนจำ เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ซึ่งมีตัวเลขที่ควรจะต้องลดอยู่ที่ 60,000 - 80,000 คน โดยการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่าง "กำไลอีเอ็ม"

3 กลุ่มที่จะได้รับการพิจารณาให้ติดกำไลอีเอ็ม ได้แก่ กลุ่มที่กระทำผิดไม่รุนแรง รอการลงโทษตาม มาตรา 56 กรมคุมประพฤติจะทำการสืบเสาะก่อนเสนอให้ศาลพิจารณา ไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าเรือนจำ

ก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้จะมีมาตรการมารายงานตัว ฝึกอาชีพ รับการอบรมความรู้และคุณธรรมจริยธรรม แต่ขณะนี้มีกำไลอีเอ็มให้สวม เพื่อไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ยังติดตามคนกลุ่มนี้อยู่ ไม่ได้ปล่อยไปเฉยๆ

กลุ่มที่ 2 ผู้รอตรวจพิสูจน์ คือ กลุ่มเสพยา เป็นคนหลงผิดที่เรา ถือว่ายังไม่ได้เป็นอาชญากร ก็จะให้โอกาส ระหว่างรอไปค่ายฟื้นฟู

“ปกติคนกลุ่มนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 45 วัน ก็จะได้รับการพิจารณาให้ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกแทน โดยสวมกำไลอีเอ็ม เนื่องจากบางคนยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่ จะได้ไม่ต้องหยุดเรียน ”
สุดท้ายกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มพักโทษ ลดโทษ คนกลุ่มนี้กระทำผิดแล้ว เข้าไปในเรือนจำ ได้เข้าร่วมการฝึกอบรม พัฒนาตนเอง จนเลื่อนชั้นนักโทษ ได้สิทธิ์ลดวันต้องโทษ ถ้าผ่านกระบวนการแล้วเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในเกณฑ์ก็สามารถออกมาได้โดยสวมกำไลอีเอ็ม ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีความหลากหลายในคดีความผิด

ส่วนกรณีการปล่อยตัวอดีตนักการเมืองพร้อมสวมกำไลอีเอ็ม ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองนั้น นายวิตถวัลย์ ระบุว่า ทั้ง 2 คน ทำความผิดในคดีการปกครอง ไม่ใช่คดีการเมือง เพราะนักโทษการเมืองก็ปล่อยตามปกติไม่ได้ติดกำไลอีเอ็ม แต่ทั้ง 2 คน ได้รับโทษน้อย แม้ว่าจะต้องสวมกำไลอีเอ็มแต่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

กลับใจนอกเรือนจำ โอกาสจากอีเอ็ม
ขณะที่นายเอ ผู้ต้องคุมประพฤติ อายุ 42 ปี พนักงานบริษัท ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เป็นหนึ่งในคนที่ได้สวมกำไลอีเอ็ม เนื่องจากคดีเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รอฟังคำวินิจฉัยของศาลฯ ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยได้สวมกำไลอีตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายเอ เล่าว่า ตั้งแต่สวมกำไลมาไม่มีปัญหาผื่นคัน หรือรู้สึกอึดอัดอย่างที่เป็นข่าว ส่วนตัวถูกจับกุมโดยที่ทำงานไม่ทราบเรื่อง เมื่อได้รับโอกาสสวมกำไลอีเอ็มจึงยังสามารถไปทำงานได้ตามปกติ ทำให้ยังมีรายได้สามารถเลี้ยงดูภรรยาและลูกอีก 3 คนได้

“ผมเป็นคนรายได้น้อย ไม่เคยทำผิดกฎหมายมาก่อน ทำให้เข้าเกณฑ์ได้ใส่กำไลอีเอ็ม ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายเงินค่าประกันตัว 10,000 บาท แล้วยังไม่ต้องหยุดงานเข้าไปในเรือนจำ แต่ทำงานหาเงินต่อไปได้”
นายเอ เล่าว่า ชีวิตประจำวันไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยยังคงทำงานตามปกติ มีหน้าที่เพิ่มเติมคือ การชาร์จแบตกำไลบ่อยๆ เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่ลดน้อยกว่า 19% รวมถึงไม่ไปที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ

“มีกำไลอีเอ็มติดอยู่ที่ขาเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ทำผิดอีก เพราะถ้าผมต้องเข้าไปอยู่ในคุก ครอบครัวต้องรับไม่ได้แน่ๆ ทั้งพ่อแม่แฟน ลูกผม สังคมต้องไม่ยอมรับ ผมรู้สึกว่ากำไลมันเป็นโอกาสที่ดีมาก ช่วยได้มากจริงๆ ”
ทั้งนี้ นายเอ ระบุว่า ที่ผ่านมา แม้จะติดขัดเรื่องอะไหล่ที่ชาร์จแบตกำไลหาย หรือร่างกายอ้วนขึ้นจนสายกำไลคับ แต่เมื่อประสานเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติก็ได้รับความช่วยเหลือมาตลอด ส่วนเจ้าหน้าที่ก็พยายามแจ้งว่า ห้ามทำลายกำไล หรือห้ามฝ่าฝืนหลบหนี ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาอยู่แล้ว เหมือนการใส่นาฬิกาผิดที่เท่านั้นเอง พร้อมยืนยันว่า หลังจากนี้หากต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูตามกฎหมายก็พร้อมจะทำตามขั้นตอน แล้วจะปรับปรุงตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

กำไลอีเอ็มติดแล้วทำอย่างไร?
ทั้งนี้ อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับโอกาสในการออกมาข้างนอก พร้อมสวมกำไลอีเอ็มเมื่อศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปสวมกำไลอีเอ็มที่สำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่ที่มีคดี ซึ่งระหว่างการสวมใส่จะมีการปฐมนิเทศหน้าที่ที่ต้องทำ คือ ต้องชาร์จแบตเตอรี่ทันทีเมื่อลดลงเหลือ 19 % ห้ามออกจากพื้นที่ เช่น พื้นที่จังหวัด บ้าน สนามบิน ห้ามทำลายกำไลอีเอ็ม หากฝ่าฝืนก็จะถูกเพิกถอนคุมประพฤติ และต้องเข้าไปสู่เรือนจำทันที

ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นแบ่งเป็นส่วนภูมิภาคสำนักคุมประพฤติทุกจังหวัดจะมีพนักงานคุมประพฤติเจ้าของคดี จะดูจากมือถือเป็นโมบายแอปพลิเคชัน ตามคดีที่รับผิดชอบ

หากมีใครฝ่าฝืน ตัด ไม่ชาร์จแบต เครื่องจะส่งสัญญาณเตือนทั้งคนที่สวมกำไลอีเอ็ม และพนักงานคุมประพฤติเจ้าของคดี รวมถึงศูนย์ควบคุมส่วนกลางที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมต่อไป

ขณะที่ใน กทม.ศูนย์ควบคุมส่วนกลางจะมีหน้าที่มอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง จากหน้าจอแสดงผลปักหมุดที่อยู่ของผู้ที่สวมกำไลอีเอ็ม โดยแบ่งระดับออกเป็น 5 สี

หากพบผู้สวมกำไลไม่ชาร์จแบตเตอรี่ หรือพยายามทำลายกำไลอีเอ็มก็จะมีเสียงเตือนในศูนย์ควบคุมและเตือนที่ผู้สวมกำไลอีเอ็มทันที เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่และเจ้าของกำไล หากติดต่อไม่ได้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามจับกุมต่อไป

“ปัจจุบันมีผู้ต้องคุมประพฤติสวมกำไลอีเอ็มรุ่นใหม่แล้ว 155 คน พบคนพยายามฝ่าฝืนแกะ แงะ ตัด 15 คน เจ้าหน้าที่ก็ได้ติดต่อไปแจ้งเตือน ซึ่งทุกคนก็เข้าใจและไม่ฝ่าฝืน”
อธิบดีกรมคุมประพฤติ มองว่า ในอนาคตมีแนวคิดที่จะผลักดันการปรับแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจในการแจ้งข้อหาการกระทำผิด การฝ่าฝืนคุมประพฤติเพื่อเป็นการปราบปราม รวมถึงการตัดสิทธิ์ลดโทษ พักโทษ

โดยหากฝ่าฝืน 1 ครั้ง จะไม่ได้รับสิทธิ์ลดโทษหรือพักโทษอีก หรืออาจใช้วิธีการติดแบล็กลิสต์ กรมคุมประพฤติ ในการพิจารณาการพักโทษ หรือลดโทษเนื่องจากกรมคุมประพฤติเป็นหนึ่งในกรรมการพิจารณาด้วย