FORTH ปักธงปีนี้รายได้โต 20% วางงบ 500 ลบ. ลุยศูนย์บริการซ่อม-บำรุงเครื่องบิน

FORTH ปักธงปีนี้รายได้โต 20% วางงบ 500 ลบ. ลุยศูนย์บริการซ่อม-บำรุงเครื่องบิน

FORTH ปักธงปีนี้รายได้โต 20% รับธุรกิจจัดหา-ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หนุน หลังมีออเดอร์เข้าต่อเนื่อง วางงบ 500 ลบ. ลุยศูนย์บริการซ่อม-บำรุงเครื่องบิน คาดสร้างรายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 20% มาจากทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจจัดหาและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็มเอส) ยังคงมีออร์เดอร์การสั่งผลิต Powerboard เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่ได้งานเข้ามาเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งได้มีการเริ่มทยอยผลิตและส่งมอบมูลค่างาน 2 พันล้านบาท รวมถึงมีการช่วยในการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรมของ Powerboard ให้กับลูกค้ารายใหม่อื่นๆ จะเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมรายได้ให้กับบริษัทได้เพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้ารายเดิม

ส่วนธุรกิจ Enterprise Service ในปีนี้จะมีการประมูลงานโครงการจากภาครัฐเพิ่มเติม คาดว่าการเปิดประมูลงานโครงการของภาครัฐในปีนี้จะกลับมามากขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวไปในปีก่อน ซึ่งมีงานที่บริษัทจะเข้าไปประมูลในปีนี้มูลค่ารวมราว 9.7 พันล้านบาท คาดหวังได้รับงาน 60% โดยจะเข้ามาเติมมูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทให้สูงขึ้นจากปัจจุบันมี Backlog ราว 900 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด

ด้านธุรกิจ SMART SERVICES ถือว่ายังทำผลงานได้ดีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ตู้บุญเติม ที่ยังคงมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเติมเงินและบริการอื่นๆ รวมถึงการที่ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ได้ขยายงานเพิ่มเติมไปยังงานบริการหลังระบบหลังบ้าน ซึ่งมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ FSMART ได้เข้าไปให้บริการ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้น

อีกทั้งใน 1-2 เดือนนี้ จะมีการเปิดบริการใหม่เพิ่มเติม ซึ่งเป็น e-wallet ที่จะเข้ามาเสริมการบริการที่ต่อยอดมาจากการให้บริการตู้บุญเติม

ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าในการทำตลาดที่สถานีชาร์จรถ EV ซึ่งเป็นการเติบโตไปควบคู่กับการยานยนต์ไฟฟ้าที่มีโอกาสที่มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากการทำตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆที่มีการนำรถ EV ออกมาขาย และการสนับสนุนด้านภาษีของภาครัฐที่ทำให้ราคารถ EV ถูกลง และเกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น แต่ยังมองว่าเป็นการค่อยๆเติบโตขึ้นตามจำนวนการใช้รถ ev ในตลาด

นอกจากนี้ธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งที่จะเข้ามาสร้าง New S curve ใหม่ให้กับบริษัท คือ ตู้คาเฟ่อัตโนมัติ แบรนด์ “เต่าบิน” ซึ่งปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าค่อนข้างมาก โดยที่ปัจจุบันบริษัทยังคงทยอยเพิ่มจุดติดตั้งตู้เต่าบินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทำเลสถานีรถไฟฟ้า โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการจากเจ้าของพื้นที่ให้นำตู้เต่าบินไปตั้งเข้ามามาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ทำให้บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตตู้เต่าบินมาที่ 15 ตู้/วัน จากที่ผลิตได้ 10-12 ตู้/วัน

โดยปัจจุบันมีจำนวนตู้เต่าบินที่ให้บริการจำนวน 818 ตู้ โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2565 จะมีจำนวนตู้เพิ่มเป็น 5,000 ตู้ และจะเพิ่มจำนวนตู้เป็น 20,000 ตู้ ภายในปี 2567 ขณะที่มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 170 เมนู หลังจากเพิ่มรายการเข้ามาให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ และอนาคตจะมีการเพิ่มความสามารถในการทำเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มฟังก์ชั่นเรื่องรสชาติ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย และจะเพิ่มเมนูอาหารเข้าไปด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาความสามารถในการทำเมนูอาหารใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต จากปัจจุบันที่ตู้เต่าบินสามารถทำโจ๊กได้แล้ว

ด้านยอดขายเครื่องดื่มของตู้เต่าบินในปัจจุบันมียอดขายเฉลี่ยกว่า 50 แก้ว/วัน/ตู้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไม่ต่ำกว่า 60 แก้ว/วัน/ตู้ ซึ่งบางตู้ทำยอดขายได้ถึง 240-250 แก้ว/วัน ราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่ม 34 บาท/แก้ว/ตู้ ยังคงเน้นราคาเครื่องดื่มในระดับที่ลูกค้าทุกคนจับต้องได้ และเป็นระดับราคาที่มีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ที่ดีไม่ต่ำกว่า 60% ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยต่อวันของตู้เต่าบินอยู่ที่ 1.5-1.6 ล้านบาท/วัน

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเดินหน้าขยายตลาดตู้เต่าบินไปยังต่างประเทศ โดยจะเน้นไปที่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี และมีความนิยมดื่มชาและกาแฟ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศอังกฤษ คาดว่าจะเริ่มนำไปเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 ส่วนตลาดอาเซียน อยู่รหว่างศึกษาการเปิดให้บริการในบางประเทศที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจเต่าบินบริษัทมองถึงการนำธุรกิจ FORTH Vending เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใน 1-2 ปีนี้ เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการเติบโตได้มากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมถึงการนำธุรกิจอีเอ็มเอสที่เป็นหนึ่งธุรกิจที่เติบโตได้ดีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมนำทั้ง 2 บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ของบริษัทที่เตรียมลงทุนเพิ่มเติมนั้น คือ ธุรกิจศูนย์บริการซ่อมและบำรุงเครื่องบินในท่าอากาศยานดอนเมือง อาคาร 3 ซึ่งจะเริ่มลงทุนในปีนี้ วงเงินลงทุนรวม 500 ล้านบาท แบ่งใช้ลงทุนในปีนี้ 300 ล้านบาท และปี 2566 อีก 200 ล้านบาท คาดหวังจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้เข้ามาให้บริษัทเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า

ขอบคุณบทความจาก : https://www.kaohoon.com/news/518341