"ตู้เต่าบิน" ตู้ขายเครื่องดื่มที่มีเมนูหลากหลายพร้อมเสิร์ฟ 24 ชั่วโมงหรือคาเฟ่อัตโนมัติ ที่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์มาพักใหญ่ จนใครๆ ก็ต้องลองไปกดชิมดูสักครั้ง
ความน่าสนใจของตู้เต่าบิน ไม่ใช่แค่ระบบอัตโนมัติจาก AI ที่น่าทึ่งจนถึงกับถูกแซวว่ามีคนนั่งอยู่ในตู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของรสชาติที่ทำได้โดดเด่นใกล้เคียงร้านเครื่องดื่มในราคาเอื้อมถึง จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง กลายเป็นอีกหนึ่งร้านเครื่องดื่มที่อยู่ในลิสต์ของคอกาแฟและแฟนน้ำหวานไปแล้ว
ทว่า เบื้องหลังระบบตู้เต่าบิน ที่ถูกออกแบบมาได้ถูกใจคนไทยขนาดนี้มาจากการสั่งสมความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม สมาร์ท เซอร์วิส ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ของ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น อยู่ภายใต้การบริหารของ พงษ์ชัย อมตานนท์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2532 เพื่อดำเนินธุรกิจที่ผลิตและประกอบแผงวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม ผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 ที่ใช้ตัวย่อหลักทรัพย์ว่า “FORTH”
เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงเต่าบิน หุ้นสามัญที่เกี่ยวข้องจึงเป็นหุ้น FORTH ส่วนหุ้นอีกหนึ่งตัวที่เกี่ยวข้องในเครือที่หลายคนมักจะสับสนคือหุ้น FSMART ซึ่งเป็นหุ้นของ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ FORTH นั่นเอง
ที่มาภาพ: www.forth.co.th
นอกจาก ตู้บุญเติม และตู้เต่าบินที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว FORTH ยังมีบริษัทย่อยอื่นๆ อีกหลายบริษัท โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ
1. กลุ่มธุรกิจอีเอ็มเอส เช่น บริการผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ออกแบบ พัฒนา และผลิตสินค้านวัตกรรม เป็นต้น
2. กลุ่มธุรกิจ สมาร์เซอร์วิส เช่น คาเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน, ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, ตู้เติมเงินบุญเติม, ตู้กดน้ำดื่มสะอาดบุญเติม เป็นต้น
3. กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ เช่น กำไล EM, เครื่องบิน Kodiak, ระบบไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะ เป็นต้น
ด้วยหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งต่อผู้บริโภคและธุรกิจ ดันรายได้ FORTH ได้เห็นหลักหลายพันล้านต่อปี และมีกำไรหลายร้อยล้านต่อปี ที่สำคัญเมื่อย้อนดู ตัวเลข 3 ปีย้อนหลังก็ยังพบว่ารายได้รวม และกำไรสุทธิเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 อีกด้วย
- รายได้-กำไรสุทธิ รวม 3 ปีย้อนหลังของ FORTH
ปี 2564
รายได้ = 8,813 ล้านบาท
กำไรสุทธิ = 722 ล้านบาท
ปี 2563
รายได้ = 7,082 ล้านบาท
กำไรสุทธิ = 439 ล้านบาท
ปี 2562
รายได้ = 6,803 ล้านบาท
กำไรสุทธิ = 331 ล้านบาท
เรียกได้ว่า FORTH เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตา ทั้งในมิติทางธุรกิจด้านวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในยุค New normal และราคาหุ้นที่ยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนท่ามกลางวิกฤติที่ยังจบลงง่ายๆ แบบนี้
ขอบคุณบทความจาก : bangkokbiznews.com