เทรนด์รถไฟฟ้า EV Car: บทเรียนจากญี่ปุ่น Part 2


By เกตุวดี Marumura

โจทย์ของประเทศญี่ปุ่น

รถยนต์ไฟฟ้านั้น ดูเสมือนเป็นทางเลือกใหม่ที่ดี แต่ยังมีบางประเด็นที่ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนคำนึงอยู่ ได้แก่

  1. ประหยัดน้ำมันแน่หรือ?

ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ คือ การหมั่นทบทวนว่า รถยนต์ไฟฟ้าดีต่อสิ่งแวดล้อมแน่หรือ กล่าวคือ ตัวรถยนต์ไฟฟ้านั้น ประหยัดน้ำมัน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็จริง แต่ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หากญี่ปุ่นยังใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันหรือถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกอาจไม่ได้ลดลงเท่าที่ตั้งเป้าไว้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ทำให้โรงไฟฟ้าปรมาณูไม่สามารถกลับมาผลิตกระแสไฟได้อย่างปรกติ

  1. การปรับตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์

ในญี่ปุ่นนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์สร้างงานให้แก่ประชากรกว่า 5.3 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 8.3 ของประชากร นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนี้ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก สถานีบริการน้ำมัน ตลอดจนธุรกิจส่งออกรถยนต์ เรียกง่าย ๆ คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างรายได้อย่างดีให้แก่ประเทศญี่ปุ่น

ทว่า หากทั่วโลกปรับมาใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งโครงสร้างรถเรียบง่าย ใช้อะไหล่รถยนต์น้อยกว่ารุ่นปรกติถึงร้อยละ 40 ซัพพลายเออร์อะไหล่รถยนต์ส่วนใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถญี่ปุ่นอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป จากเดิม จุดแข็งของบริษัทญี่ปุ่น คือ การผลิตแบบ Just-in-Time ไลน์การผลิตสามารถผลิตรถยนต์คละแบบ คละรุ่นได้ตามออเดอร์

 

ซึ่งการจะสร้างระบบนี้ได้นั้น ผู้ผลิตต้องมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและได้รับความร่วมมือร่วมใจจากซัพพลายเออร์นับร้อยราย เราจึงมักเห็นโรงงานอะไหล่รถยนต์ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ล้อมรอบโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อจัดส่งอะไหล่ได้ตรงเวลา ซึ่งเป็นการยากที่บริษัทผลิตรถจากประเทศอื่น ๆ จะลอกเลียนแบบได้ (โดยมาก อะไหล่มาจากคนละประเทศ จึงต้องสั่งล่วงหน้าทีละมาก ๆ ไม่สามารถทำแบบ Just-in-Time ได้) ทว่า เทคโนโลยี EV กำลังทำให้จุดแข็งดังกล่าว ไม่ได้กลายเป็นพลังอีกต่อไป ไลน์การผลิตจะเรียบง่ายขึ้น เนื่องจากใช้อะไหล่น้อยลง แข่งกันที่ศักยภาพของแบตเตอรี่แทน

บทเรียนสำหรับประเทศไทย

  1. บทบาทที่สำคัญของรัฐบาล

จากสถานการณ์ของญี่ปุ่นข้างต้น จะเห็นว่า รัฐบาลมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันกระแสรถยนต์ไฟฟ้านี้ ตั้งแต่การสนับสนุนการซื้อรถ ผ่านมาตรการทางภาษีและเงินสนับสนุน การช่วยภาคเอกชนก่อตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ จึงมีเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตรถ ซัพพลายเออร์ บริษัทผลิตแท่นชาร์จ โรงไฟฟ้า ตลอดจนกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสิ่งแวดล้อม

การสร้างกระแสใช้รถยนต์ไฟฟ้านี้ จึงไม่อาจเกิดได้เพียงแค่การผลักดันจากภาคเอกชนเท่านั้น รัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์ว่า

…       ทำอย่างไรให้รถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นรถยนต์ประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำมันอย่างแท้จริง (เช่น หาแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมากขึ้น) วางนโยบายให้ชัดเจนเองว่า ต้องการสร้าง

ทำอย่างไรให้มีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานีชาร์จ พอเพียงต่อความต้องการของประชาชน

  1. การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม

บริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

สำหรับบริษัทที่ทำด้านแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า นี่อาจเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้เทคโนโลยีและพัฒนาสินค้า เนื่องจากยังมีความต้องการแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานได้นาน และเร่งความเร็วให้ได้สูงกว่านี้ (พานาโซนิคกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับ 1 ของโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 16.5)

สำหรับซัพพลายเออร์อะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ต่าง ๆ บางรายอาจเผชิญกับยอดขายลดลงในอนาคตอันใกล้นี้ อาจต้องปรับเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน ไปนำเสนออุตสาหกรรมอื่น หรือหันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์รถยนต์ไฟฟ้าแทน